ค้นหาใน GOOGLE.CO.TH ค้นหาในหน้านี้

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระปรางค์สามยอด

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทเขมรในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 - 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชา แต่เดิมภายในปราสาทประธานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ปราสาททิศใต้ประดิษฐานรูปพระโลเกศวร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สี่กร และปราสาททิศเหนือประดิษฐานรูปพระนางปรัชญาปารมิตาสองกร

สถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ เป็นปราสาทศิลาแลงแบบเขมรเรียง ต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ภายในบริเวณนอกจากปราสาททั้ง 3 องค์นี้แล้ว ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อ กับปราสาทประธานเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 -2231)

ประวัติ

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 904 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 และได้กำหนดเขตที่ดินให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 2งาน 54 ตารางวา ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

เป็นปราสาทเขมร 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่างๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ประมาณ 1757) ที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เช่น ปรางค์พรหมทัตที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประดิษฐานพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ที่สร้างเป็นปราสาทศิลาแลง 3 องค์เรียงกันในลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอด และปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ลวดลายประดับ


ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงมกร ทิศเหนือ และ พระยมทรงกระบือ ทิศใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิ ราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด

  • บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ

มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ

  • ตอนกลางของเรือนธาตุ

มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็ก และลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ

  • บัวเชิงเรือนธาตุ

ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นศัตรูกับชาวเขมรที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ

ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้นปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลงเมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศ ของศิลาแลงจะมีการขยายตัวทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมา รวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีก ครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม เดิมเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระที่นั่งองค์นี้ จัดได้ว่า เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เพราะว่า ในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ รัฐสภาปัจจุบัน ซึ่งอยู่ข้างๆพระที่นั่งองค์นี้ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญๆมากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมและรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ประวัติ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งภายในพระราชวังดุสิต โดยตั้งอยู่ในทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง

พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท

สถาปัตยกรรม


พระที่นั่งอนันตมหาสมาคม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม

ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง (ภาพจิตรกรรมไทยนิยมเขียนแบบปูนแห้ง)เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลีและศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี

  • เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมร
  • เพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุปถัมภ์งานศิลปะ
  • เพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วย พระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆ แสดงนัยแห่งพระราชจรรยา ที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาโดยไม่รังเกียจกีดกัน
  • เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยทาน และทรงเลิกประเพณีทาส
  • เพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454
  • เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธย ย่อ “จปร.” สลับกัน “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สวนหลวง ร.9

วนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างเพื่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในศุภมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530
สวนหลวง ร.9 มองเห็นหอรัชมงคล

ประวัติ


สวนหลวง ร.9 จัดสร้างขึ้นเนื่องจาก แนวคิดที่จะสร้างสวนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็น ผู้นำ ร่วมกับแนวคิดของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพื้นที่รับน้ำ และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีความต่อเนื่อง มีที่พักน้ำท่วมขังก่อนถ่ายเทออกแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2523

ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิสวนหลวง และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อสวนสาธารณะแห่ง ใหม่นี้ว่า "สวนหลวง ร.9" มีการระดมทุนจัดซื้อที่ดิน เชิญชวนให้ประชาชนซื้อดินหน่วยละ 1 ตารางวา สร้างสวน กระจายพื้นที่ 500 ไร่ ออกเป็น 800,000 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 500 บาท ต่อมาได้ใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มเติมกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง

หอรัชมงคล

หอรัชมงคล ลักษณะอาคารเป็นรูปเก้าเหลี่ยมด้านเท่า หลังคาโครงสูง ประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองทอง อันเป็นสีวันพระราชสมภพ เป็นศิลปกรรมประยุกต์แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนเนิน 9 ระดับ ภายในมีห้อง 9 ห้อง ฝาโดยรอบเป็นกระจกให้ ประชาชนชมได้จากภายนอก ภายในห้องจัดแสดงหุ่นจำลอง โครงการในพระราชดำริ และของใช้ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทาน อาทิ เรือใบซูเปอร์มด แซกโซโฟน แผนที่เก่า เป็นต้น บริเวณภายในอาคารเป็นห้องกว้างขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่จัดกิจกรรม จุคนได้ประมาณ 500 คน

การจัดแบ่งพื้นที่ภายในสวนหลวง ร.9


  • บริเวณเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหอรัชมงคล และอุทยานมหาราช ภายในหอรัชมงคลจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และเครื่องใช้ส่วนพระองค์
  • สวนพฤกษศาสตร์ เป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดสร้างสวนหลวง ร.9 แห่งนี้ เนื้อที่รวม 150 ไร่ มีการจัดพันธุ์ไม้หลักอนุกรมวิธานและนิเวศน์วิทยา และยังเป็นที่รวบรวมไม้พันธุ์ต่างๆ ของไทย รวมทั้งไม้ที่หายาก และสมุนไพรต่างๆ พร้อมทั้งสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันจันทร์-เสาร์ บริเวณนี้มีอาคารต่าง ๆ ดังนี้
    • หอพฤกษศาสตร์ เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้และเอกสารเกี่ยวกับพันธุ์ไม้
    • อาคารถกลพระเกียรติ เป็นที่ประชุม สัมมนาทางวิชาการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี
    • อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย (จิโอเดสิกโดม) และภายนอกอาคารเป็นที่รวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    • อาคารพันธุ์ไม้ในร่ม ภายในอาคารปลูกประดับด้วยไม้ในร่มนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีเรือนเฟิร์นและกล้วยไม้ สำหรับรวบรวมพันธุ์เฟิร์นและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
  • ตระพังแก้วเก็บน้ำ มีเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่พักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณเมืองชั้นใน ใช้ประโยชน์เพื่อการกีฬาทางน้ำ ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์น้ำ มีบริการเรือพาย และจักรยานน้ำ
  • สวนรมณีย์ เนื้อที่ 50 ไร่ เป็นการจัดสวนเพื่อเลียนแบบธรรมชาติท้องถิ่น มีน้ำตก ลำธาร ตกแต่งด้วยวัสดุ พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ บริเวณนี้ยังมีสวนจีน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสวนเชิงผา
  • สวนน้ำ เนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้น้ำสวยงามหลากชนิดปลูกไว้ในลำธาร และบริเวณริมสองฝั่ง
  • สนามราษฎร์ และ ลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ลานสนามกว้าง และเวทีกลางแจ้ง เป็นสถานที่จัดการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีและประกวดผลิตผลทางการเกษตร
  • อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำทั้งของไทย และต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงาน งานพรรณไม้อร่ามสวนหลวง ร.9 จัดโดยมูลนิธิสวนหลวง ร.9 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร